80 วิธีทำดีต่อตนเอง ต่อสังคมรอบข้าง ตลอดจนประเทศชาติ มาให้ทุกคนได้ลองเลือกไปปฏิบัติตามความถนัด และความชอบ เพื่อนำมาซึ่งความสุขและความสมานฉันท์ของชาติและเพื่อถวายแด่ “ ในหลวง รัชกาลที่ 9” ที่รักยิ่งของเรา ดังต่อไปนี้
-ทำดีต่อตนเอง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราได้รู้สึกดีๆ และพร้อมที่จะแบ่งปันความสุขไปให้ผู้อื่น ได้แก่
1. ตื่นขึ้นมาอย่างกระตือรือร้นทุกเช้า พร้อมยิ้มแย้มแจ่มใสรับวันใหม่
2. ไหว้พระก่อนออกจากบ้านเพื่อเตือนสติและเพื่อสิริมงคลแก่ตน
3. สวัสดีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ก่อน และหลังกลับจากโรงเรียนหรือที่ทำงานทุกครั้ง
4. ตั้งใจไม่โมโห หรือไม่โกรธใคร อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 วัน
5. ไม่พาตัวไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวง
6. อ่านหนังสือดีๆอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อเสริมสร้างสติปัญญา และนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
7. พูดคำว่า “ ขอบคุณ ” หรือ “ ขอบใจ ” ทุกครั้ง เมื่อผู้อื่นทำอะไรให้ เช่น ช่วยถือของ ให้บริการ
8. อย่าลืม “ ขอโทษ ” เมื่อทำผิดต่อผู้อื่นทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ หรือเมื่อทำสิ่งใดผิดพลาด
9. มีหลักการ ยึดมั่นในคุณความดี และมีความเพียรพยายาม
10. ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ด้วยการตั้งใจทำสิ่งใด ก็เพียรทำให้สำเร็จ ไม่เบี้ยวแม้แต่กับตนเอง
-ทำดีต่อครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเราที่สุด และมีผลต่อความสุขของสมาชิกทุกคน ได้แก่
11. ลดการบ่นว่า ดุด่าคนในครอบครัวให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นลูก สามี/ภริยา พี่น้อง เพื่อลดความเครียดในบ้านและทำให้ทุกคนรู้สึกบ้านน่าอยู่ไม่ร้อนหูร้อนใจ
12. พาสมาชิกในครอบครัวไปกินอาหารนอกบ้านหรือไปเที่ยวบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ
13. ช่วยกันลดรายจ่ายด้วยการไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น เพื่อมิให้เป็นหนี้สินหรือเงินไม่พอใช้
14. ไม่คิดจะมีกิ๊ก หรือเป็นชู้กับสามี/ภริยาผู้อื่น อันเป็นสาเหตุให้ครอบครัวเราและผู้อื่นเกิดความแตกแยก
15. พูดจาไพเราะ สุภาพกับสมาชิกในบ้าน ไม่ตะคอกด่าทอหรือจิกเรียกด้วยถ้อยคำหยาบคาย
16. มีสัมมาคารวะ และแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ในบ้านทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือพี่ป้าน้าอา เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน
17. มีน้ำใจกับคนในบ้าน เช่น ช่วยพ่อแม่ล้างถ้วยชาม ช่วยภริยากวาดถูบ้าน ช่วยพาพ่อ/แม่ของสามีหรือภริยาไปหาหมอ ซื้อของใช้ให้สามี/ภริยา
18. ไม่เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในบ้าน เช่น ฟังสามี/ภริยา ฟังลูกว่าต้องการอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
19. พูดจาชมเชยและให้กำลังใจแก่สมาชิกในบ้าน เช่น ชมว่าแต่งตัวดี ทำกับข้าวอร่อย วาดภาพสวย เป็นต้น
20. พาครอบครัวไปทำบุญสร้างกุศลร่วมกันในโอกาสวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด วันวิสาขบูชา ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกได้ใกล้ชิดกับพระศาสนา และได้เห็นแบบอย่างการทำดีอย่างเป็นรูปธรรม
-ทำดีต่อเพื่อนบ้าน ซึ่งอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน หากปลูกไมตรีต่อกันได้ ย่อมจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ดังนั้น จึงควรทำดีต่อกัน ดังนี้
21. ยิ้มและทักทายเมื่อพบกัน
22. ช่วยดูแล สอดส่องบ้านให้เมื่อเพื่อนบ้านไม่อยู่ หรือไปต่างจังหวัด หรือช่วยแจ้งเหตุหากมีสิ่งใดผิดปกติ
23. ซื้อของขวัญหรือของฝากไปให้บ้างตามโอกาส เช่น วันปีใหม่ วันตรุษจีน หรือเมื่อกลับจากต่างถิ่น เพื่อเป็นการผูกมิตรหรือขอบคุณเขาที่ช่วยดูบ้านให้
24. ไม่เลี้ยงสัตว์หรือปลูกต้นไม้ที่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจมาสู่เพื่อนบ้าน หรือเป็นมูลเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน เช่น สัตว์ส่งเสียงดังรบกวน หรือใบไม้ร่วงไปรกบ้านเขา
25. ไม่จอดรถขวางทางเข้าบ้านของเขา หรือในที่ที่เขาจอดประจำ
26. ไม่พาสัตว์เลี้ยงเช่น หมา แมว ไปอึหรือฉี่หน้าบ้าน ต้นไม้ของเขา
27. ไม่เปิดวิทยุ โทรทัศน์ หรือคาราโอเกะเสียงดังจนรบกวนเขา โดยเฉพาะในวันหยุด
28. ไม่ซ้อมดนตรี /จัดงานหรือส่งเสียงเอะอะ โวยวายรบกวนเพื่อนบ้าน ควรจะจัดเวลาซ้อมที่ไม่เช้าหรือดึกเกินไป หรือไม่ก็ควรจะไปซ้อมที่อื่น และไม่ควรพาเพื่อนมาตั้งวงกินเหล้าส่งเสียงดัง หนวกหูชาวบ้านเขาทุกอาทิตย์
29. ไม่กวาดขยะไปกองหรือทำสกปรกหน้าบ้านผู้อื่น ควรกวาดและเก็บใส่ถุงหรือถังขยะให้เรียบร้อย
30. ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ที่จัดขึ้นในหมู่บ้านหรือชุมชนของเราเองบ้างตามโอกาสอันควร
-ทำดีต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานของเราราบรื่น เกิดความสามัคคี และมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของเราด้วย ได้แก่
31. ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักโอภาปราศรัยต่อเพื่อนร่วมงาน ไม่ทำเมิน หรือทำหน้าเฉยเมยไร้ชีวิตเมื่อเจอกัน
32. ช่วยแนะหรือสอนงานที่เรามีความชำนาญให้
33. แสดงความยินดีหรือชมเชยเมื่อเขาประสบความสำเร็จหรือได้รับรางวัล
34. ซื้อของขวัญ ให้เงิน หรือการ์ดอวยพรในโอกาสต่างๆ เช่น วันเกิด วันแต่งงาน คลอดลูก
35. แสดงความเสียใจหรือปลอบใจเมื่อเขาประสบเหตุหรือโชคร้าย เช่น พ่อแม่ตาย ถูกขโมยขึ้นบ้าน
36. ช่วยเหลือ ตักเตือนหรือชี้แนะเมื่อเขาทำผิดพลาดด้วยความจริงใจ ไม่ซ้ำเติม
37. ไม่ขโมยผลงานของเขามาเสนอเป็นผลงานของเรา
38. ไม่ใส่ร้ายป้ายสี หรือยุยงให้เพื่อนร่วมงานแตกคอ หรือทะเลาะวิวาทกัน
39. แนะนำหนังสือ ร้านอาหาร วัด หรือสถานที่ดีๆแก่เพื่อนให้เขาได้ไปใช้บริการบ้าง
40. รู้จักอยู่ช่วยงานหรือร่วมกิจกรรมที่เพื่อนในหน่วยงานจัดขึ้น แม้จะมิใช่งานของเรา เพื่อจะได้รู้จักสนิทสนม และทำงานเข้าขากันได้มากขึ้น
-ดีต่อหน่วยงานหรือที่ทำงานของตน ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ประกอบอาชีพ ทำให้เรามีกินมีใช้ เราจึงควรต้องกตัญญูรู้คุณ ด้วยการ
41. ซื่อสัตย์ต่อหน่วยงาน ไม่โกงเวลา โกงทรัพย์สินของหน่วยงาน
42. ไม่นินทาว่าร้าย หรือดูถูกหน่วยงานของเราเอง หากเราคิดว่าไม่ดี ก็ควรออกไปหางานอื่นทำ
43. ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
44. เมื่อเห็นสิ่งใดไม่ดีในหน่วยงาน ต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไข ไม่ใช่ซ้ำเติมหรือเมินเฉย
45. ให้บริการหรือพูดจากับผู้มาติดต่อกับหน่วยงานให้สุภาพ ไพเราะเพื่อให้เกิดความประทับใจที่ดี
46. ใช้ทรัพยากรต่างๆของหน่วยงานอย่างประหยัด คุ้มค่าให้เหมือนสมบัติของเราเอง
47. ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ ทำลายระเบียบที่ดีจนหน่วยงานเละเทะ ยุ่งเหยิงเพราะต่างทำตามใจตนเองจนควบคุมไม่ได้
48. รู้จักเสียสละเพื่อหน่วยงานบ้างบางโอกาส เช่น ทำงานโดยไม่เอาโอ.ทีหรือร่วมลงขันจัดกิจกรรมให้หน่วยงาน
49. ช่วยกันสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีให้หน่วยงาน เช่น แข่งกีฬาชนะเลิศ จัดทำโครงการดีๆเพื่อสังคม
50. ต้องมีความภาคภูมิใจในหน่วยงานของตน
-ดีต่อสังคม ซึ่งมีเราเป็นหน่วยหนึ่ง ก็จะทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆตัวเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น เพราะจะเต็มไปด้วยความเอื้ออาทร และความมีไมตรีจิตต่อกัน ด้วยการ
51. ส่งของกิน ของใช้ หรือเงินไปบริจาคมูลนิธิต่างๆเมื่อถึงวันเกิด หรือวันสำคัญอื่นๆของตน
52. ทำหนังสือชมเชยไปยังบุคคล หรือหน่วยงานที่ให้บริการที่ดีเพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น เช่นเขียนไปชมกระเป๋ารถเมล์ที่พูดจาดี ช่วยพยุงคนแก่ขึ้นรถ
53. ช่วยกันรักษาความสะอาดและถนอมใช้สมบัติสาธารณะให้มีอายุยืนนาน เช่น ไม่ขีดเขียนในห้องน้ำสาธารณะ ไม่ทิ้งขยะ/ถ่มน้ำลายบนถนนหนทางหรือในแม่น้ำลำคลอง
54. ช่วยกดลิฟท์ให้กับผู้ร่วมทาง หรือช่วยถือของหนักให้กับคนบนรถเมล์
55. ไม่แซงคิวใดๆที่เขากำลังเข้าแถวรอรับบริการ เช่น ซื้อตั๋วหนัง หรือเข้าส้วม
56. นำหนังสือดีๆ หรือหนังสือธรรมะ ไปบริจาคตามโรงพยาบาลรัฐ เช่น ห้องรอรับการรักษา ห้องพักผู้ป่วย ห้องพยาบาล เป็นต้น เพื่อเป็นการแนะวิธีปฏิบัติตน และช่วยปลุกปลอบใจ
57. ขับรถตามกฎจราจร มีน้ำใจให้กับรถคันอื่น ไม่แซงซ้ายป่ายขวา และจอดรถให้คนข้ามถนนบ้าง
58. อ่านหนังสือธรรมะ หรือหนังสือดีๆใส่เทป ซีดี ส่งไปให้คนตาบอดฟัง
59. รับเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ
60. ให้ความช่วยเหลือ/แนะนำแก่ผู้อื่นในสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยทำ เช่น แนะวิธีคาดเข็มขัดบนเครื่องบิน แนะวิธีใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายในฟิตเนส
-ดีต่อศาสนา อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เราจึงควรสืบทอดศาสนาให้ยั่งยืนต่อไปยังลูกหลานของเราด้วยการ
61. ศึกษาหลักธรรมในศาสนาของเราให้รู้จริง
62. ปฏิบัติตามธรรมะที่ศาสดาสอนไว้
63. ช่วยเหลือแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
64. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาอื่น อันเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยก
65. ทำบุญตามหลักศาสนาของตนอย่างน้อยเดือนละครั้ง
66. สั่งสอนและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีกับอนุชนรุ่นหลัง
67. ไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำลายผู้อื่น
68. ไม่ใช้ศาสนาไปหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในทางที่ผิด
69. หากเป็นพระ นักบวชต้องทำตนเป็นแบบอย่างและแนะแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควรแก่ศาสนิกชน
70. เชื่อมั่น และตั้งใจที่จะช่วยสืบทอดศาสนาทุกวิถีทางที่ดีและถูกต้อง
-ดีต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดหรือให้เราได้อยู่อาศัย เราจึงควรตอบแทนด้วยการ
71. ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือตำแหน่งใด
72. ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ใส่ตัวหรือพวกพ้อง และไม่คิดคอรัปชั่นหรือคดโกงด้วยวิธีการใดๆ
73. ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตน
74. ช่วยปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเมื่อมีโอกาส
75. ไม่เมินเฉยหรือละเลยให้ผู้อื่นมาฉกฉวยผลประโยชน์จากชาติบ้านเมืองของเรา
76. ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
77. สอนลูกหลานให้รักและภาคภูมิใจในชาติของเรา
78. ตั้งใจศึกษาหาความรู้ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างเต็มที่
79. มีความรักความสามัคคีต่อกันในทุกระดับ
80. ช่วยกันรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของประเทศ
ทั้งหมดคือตัวอย่าง การ “ ทำความดี ” อันหลากหลาย ที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ แม้บางข้อดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่อย่าลืมว่าหากเราทุกคนตั้งใจทำ ความดีเล็กๆเหล่านี้ก็สามารถรวมเป็น “ พลังอันยิ่งใหญ่ ” ที่ทำให้ทุกคนเป็นสุข เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และมีผลทำให้ชาติบ้านเมืองร่มเย็นได้ และน่าจะเป็นสิ่งที่ “ ในหลวง ” ของเรา คงทรงยินดีที่ราษฎรของพระองค์สร้างความดีแก่ตัวและผู้อื่นมากกว่า การสร้างถาวรวัตถุใดๆ ถวายพระองค์ท่านอย่างแน่นอน
ที่มา : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
เนื่องในโอกาสวันปีใหม่ 2550 ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9