14 ตุลาคม 2559

บทสรุปเรื่อง "โกศ" เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระบรมโกศ
โดยที่ตัวผมเองเคยมีความข้องใจตลอดมาว่า ศพที่เข้าโกศนั้นถูกบรรจุจัดลงให้อยู่ในท่าทางอย่างไร

เนื่องจากตัวโกศนั้นไม่ได้ใหญ่โตกว้างขวางขนาดที่ผู้ใหญ่ธรรมดาๆจะลงไปนั่งอย่างสบายๆได้ เรื่องที่เล่าขานกันหรือที่บันทึกไว้ในเชิงตำนานก็นึกภาพตามไม่ออก คนที่รู้เรื่องจริง ก็ไม่ยอมจะเปิดเผย ปล่อยให้ผู้คนเดาหรือเสริมแต่งกันไปจนน่ากลัว เช่นในโกศจะมีเหล็กแหลมไว้เสียบทวารกันศพล้ม หรือระบายน้ำเลือดน้ำหนองเป็นต้น เรื่องศพในโกศทุกวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องลึกลับ แม้แต่ในสมัยที่ยังนิยมเข้าโกศกัน ผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับพิธีการสนมพลเรือน ถึงเป็นญาติก็ยังถูกเชิญให้ออกจากห้อง ไม่ให้ดูกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งก็คงจะไม่น่าดูจริงๆ เพราะบางครั้งคงจะต้องมีการทารุณต่อศพอยู่บ้าง โดยเฉพาะศพที่มีรูปร่างอ้วนใหญ่ ซึ่งแม้คนขนาดธรรมดาๆก็คงต้องตัดเอ็น ดัดแข้งดัดขากันสาหัสอยู่แล้ว

สมัยนี้ ผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนใหญ่จึงสมัครใจที่จะยอมนอนตายในโลงธรรมดาอยู่หลังฉาก ส่วนโกศที่พระราชทานให้ตามเกียติยศนั้น ก็ตั้งออกงานไว้หน้าฉากตามฐานันดร ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงรู้จักการเข้าโกศจริงๆน้อยลงไปทุกที ถามใครก็หาคำตอบไม่ได้ นี่ขนาดคนไทยด้วยกันยังเป็นขนาดนี้ ถ้าเป็นชาวต่างประเทศก็ยิ่งแล้วกันไปใหญ่

ในอดีตครั้งรัชกาลที่๔ ฝรั่งเลวๆคนหนึ่งได้เขียนภาพพระศพในพระโกศเจ้านายระดับสูงยิ่งพระองค์หนึ่งขึ้นตามจินตนาการของตนเอง แล้วส่งไปตีพิมพ์ในปารีส ฝรั่งเศสกับสยามตอนนั้นเริ่มจะมีเรื่องเขม่นๆกันอยู่แล้ว ภาพที่เต็มไปด้วยอดติจึงมีขนาดขยายเต็มหน้า ที่น่าเจ็บใจก็คือ คนไทยเองบางคนก็เคยเอามาพิมพ์ประกอบในข้อเขียนของตนคล้ายๆกับยอมรับไปด้วย แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะว่าไปแล้ว มันก็เป็นภาพๆเดียวในโลกนี้ที่พยายามจะเผยความลับภายในโกศที่คนทั้งหลายอยากรู้

ผมจึงเขียนกระทู้นี้ขึ้น เพื่อแสวงหาความรู้ที่ถูกต้อง ให้ท่านทั้งหลายจะได้ร่วมกันเสริมแต่ง บันทืกไว้สำหรับคนไทยด้วยกันที่สนใจได้รับทราบในสิ่งที่ควรทราบ ไม่ให้ติดตากับรูปที่ฝรั่งเขียน มาใช้ ในยามที่ประเพณีการเข้าโกศได้หมดสมัยไปในที่สุด
    "คำว่าพระโกศหรือโกศ มักจะสร้างความสับสนในการเรียกขาน ที่ถูกต้องจะเรียกว่าพระลอง ดังเช่นงานพระราชพิธีครั้งที่ผ่านมา ผู้บรรยายจะเรียกพระโกศว่าพระลองทองใหญ่ ผมไม่แปลกหูสำหรับคำเรียกนี้ เพราะเคยไค้ยินบ่อย  แต่โกศสำหรับสามัญชน แทบจะไม่เคยได้ยินผู้ใดเรียกว่า ลองโถ ลองแปดเหลี่ยม  ลองราชวงศ์ เลย ยิ่งศพพระตามบ้านนอกที่ชาวบ้านช่วยกันทำโกศเอง จะไม่เคยเรียกเป็นอย่างอื่นทั้งนั้น ดังนั้นโกศชั้นนอกเช่นเดียวกับในภาพนี้ ผมจะเรียกว่าโกศลองนอกนะครับ"
    ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระบรมโกศ
    โกศนี้ เรียกว่าโกศลองใน เป็นภาชนะตัวจริงที่บรรจุร่างของผู้ตาย ประกอบด้วยตัวถัง เป็นโลหะแผ่นที่ถูกม้วนเป็นทรงกระบอกเชื่อมตะเข็บ ทาสี ปิดทองหรือหุ้มทอง เส้นผ่าศูนย์กลางปากบนประมาณ๖๔ช.ม.  ความสูงประมาณ๙๕ ช.ม. ด้านล่างเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ๔๖ช.ม. มีตะแกรงเหล็กเชื่อมไว้รับน้ำหนักตัวศพ ตะแกรงนี้มีไว้ในการเผาศพ

    ฐานที่ตั้ง เป็นไม้ ด้านบนเว้าลงเป็นรูปกระทะหงาย หรือมีแผ่นดีบุกรูปใบบัววางไว้รองรับของเหลวที่อาจเกิดขึ้นตามขบวนการย่อยสลายในสมัยโบราณ ตรงกลางส่วนเว้าที่ลึกสุดเป็นรูระบายบุพโพนี้ ซี่งมีท่อต่อลงสู่ภาชนะที่เรียกว่า “ถ้ำ” เบื้องล่าง
    ด้านบนเป็นฝา เมื่อปิดครอบลงแล้วจะยึดทุกส่วนที่ประกอบกันให้มั่นคงด้วยเชือก อุดรอยต่อด้วยขี้ผึ้ง กันกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จะรั่วซึมออกมา

    เมื่อนำโกศลองในไปตั้งบนแท่นแล้ว จึงประกอบโกศลองนอกที่ได้รับพระราชทานตามฐานันดรศักด์ สวมครอบไว้ ระหว่างพิธีธรรมต่างๆ

    ในวันพระราชทานเพลิงศพ โกศลองในเท่านั้นที่จะถูกนำไปตั้งบนจิตกาธานโดยไม่มีฐาน สมัยนี้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเพราะเป็นเพียงโกศเปล่าหรือบรรจุของบางอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ตายเท่านั้น  เมื่อเสร็จพิธีการเผาหลอกแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะไปยกโลงศพตัวจริงมาใส่เข้าเตา ใช้เชื้อเพลิงไม่แก๊สก็เป็นน้ำมันโชล่า เผาเรียบร้อยสะดวกง่ายดาย

    สมัยโบราณ ก่อนออกเมรุ ศพในโกศจะถูกนำออกมาชำระเสียก่อน ให้เหลือแต่กระดูก เนื้อหนังมังสาจะถูกรูด แยกไปจัดการต่างหาก ส่วนที่จะประกอบพิธีเผา จะห่อผ้าขาวนำกลับเข้าโกศลองในโดยส่วนก้นมีเฉพาะเหล็กรองรับ วางบนจิตกาธาน  เมื่อเผาจริง ก็เปิดฝา แล้วสุมไฟเข้าใต้ตะแกรงโกศ จนกว่าจะมอดไหม้เป็นเถ้าธุลีอังคาร

    สิบกว่าปีก่อน ผมได้เห็นพิธีเสด็จพระราชทานเพลิงศพคุณลุง  ซึ่งระหว่างงานสวดพระอภิธรรม ก็นอนในโลงแอบอยู่หลังม่านเช่นกัน แต่เมื่อออกเมรุหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ผมทราบแต่เพียงว่า   ศพถูกนำออกจากโลง มาไว้อยู่ในโกศลองในจริงๆ  ไม่ทราบว่าเพราะเป็นงานที่เสด็จพระราชทานเพลิงหรือเปล่า แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ผมเพียงอยากจะเล่าให้ฟังว่า เมื่อเผาจริงนั้น พอพนักงานเปิดม่านออกมา เห็นกล่องไม้อัดบางๆ ทาสีขาว ขนาดเล็กกว่ากล่องกระดาษบรรจุทีวี๒๐นิ้ว ที่กำลังถูกยกเข้าเตาเผา ข้างบนเปิดโล่งแลเห็นห่อผ้าขาวกลมๆวางซ้อนกัน อยู่ในกล่องนั้นก่อนที่จะคลุมด้วยผ้าขาวปิดทับ  คงจะเป็นส่วนที่รูดออกมาตั้งแต่ก่อนออกเมรุ และส่วนที่เพิ่งจะเอาออกมาจากโกศ เรื่องที่เล่ากันว่าศพในโกศเมื่อนำออกมาชำระ จะมีการต้มในกระทะใบบัวให้กระดูกหมดกลิ่นก่อนแยกมาใส่โกศมาเผา ที่เหลือเคี่ยวต่อจนกว่าจะแห้งนั้น จึงได้ถูกเลิกไปหลายปีก่อน๒๕๓๘แล้ว หลังจากที่มีถุงพลาสติกและเตาเผากำจัดกลิ่นได้  และนี่คือการเผาศพที่เข้าโกศก่อนจะถึงยุคปัจจุบัน

    คนไทยเอาธรรมเนียมการเข้าโกศมาจากไหน

    อ่านเจอมาว่า โกศ เป็นภาษาสันสกฤต ฉะนั้น รากเหง้าวัฒนธรรมของโกศจึงมาจากอินเดียโบราณแน่ ในไตรภูมิพระร่วงปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า เอา(พระบรมศพ)ใส่ลงในโกศทอง แสดงว่าคนไทยมีวัฒนธรรมนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว

    แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัฒนธรรมการนั่งตายมีที่มาที่ไปอย่างไร
    ผมออกจะเชื่อในทฤษฎีที่ว่า มาจากคติทางพุทธศาสนาในเรื่องตายแล้วเกิด ความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดและการตายที่เห็นได้ชัดในวัฒนธรรมไทยก็คือการเก็บอัฐิ เ ริ่มจากพนักงานทำการรวบรวมเถ้ากระดูกที่หลงเหลืออยู่ภายหลังการเผาศพ มาจัดแต่งให้เป็นรูปทารกก่อนการเลือกเก็บอัฐิ นัยว่าเป็นอุบายให้พิจารณาธรรมะในข้อดายแล้วเกิดนี้                                     

    การเกิดในมนุษยโลก ก็ควรจะเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เดียรฉาน ดังนั้นการตายของผู้ที่ยังไม่เข้าถึงพระนิพพาน จีงควรจะอยู่ในท่าที่เชื่อมโยงกับการที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกโดยง่าย

    ลองพิจารณาท่าสบายที่สุดของทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดาดูซิครับว่าเป็นท่านั่ง และนั่งอย่างไร ฉะนั้น คนมีบุญบารมีก็น่าจะตายในท่าที่คล้ายกันนี้                                                               

    ตามที่อ่านพบมา ศพที่เข้าโกศอยู่ใน “ท่านั่งพนมมือเอาแขนลอดเข่ามาพนม” ผมลองทำท่านี้ดูแต่สุดวิสัย  อีกสำนวนหนึ่งเขียนว่า “ประทับนั่งคุกพระชานุทั้งสองยกขึ้นแบเสมอพระองค์ ประนมพระหัตถ์” ก็ไม่เข้าใจอาการยกขึ้นแบ การนั่งคุกเข่าแบบนั่งราบนั้น ขาจะยาวเกินพื้นที่ แต่ถ้านั่งบนส้น ศีรษะจะสูงเกินขอบ นอกจากจะเป็นคนรูปร่างเล็กมาก จะนั่งท่าไหนก็ได้

    ลองมาศึกษาสรีระของมนุษย์ขนาดมาตรฐานดู ท่าที่เหมือนกับนั่งคุกเข่าแต่เปลืองเนื้อที่น้อยที่สุดเพราะใช้แขนรัดไว้ เห็นจะเป็นท่าที่นักกิฬากระโดดน้ำระดับโอลิมปิกกระทำ เช่นภาพข้างล่างที่นำเสนอโดยแปลงโฉมหน้าพ่อยอดนักกิฬาคนนี้เสียใหม่เพื่อไม่ให้ตะแกมาด่าว่า ผมเอาตะแกมาเป็นนายแบบนั่งโก้อยู่ในโกศโดยพลการ

    ภาพนี้  แสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะดัดแข้งดัดขาเพียงเล็กน้อย เพื่อบรรจุร่างนี้ลงไปในปริมาตรของโกศได้ โดยแทบจะไม่ต้องกระทำทารุณกรรม

    ภาพวาดทีผมเขียนขึ้นโดยอาศัยนายแบบในภาพที่แล้ว ร่างกายของศพจะอยู่ในท่าประมาณนี้ ละไว้มิได้เขียนเครื่องสุกำ คือผ้าตราสังขาวและเชือกฝ้ายมัดไว้๕เปาะให้คงท่า หรือหมอนที่วางประคับประคองร่างไว้อีกทีหนึ่ง ส่วนไม้หลักที่อยู่ในโกศ เรียกว่า "กาจับหลัก" ทำหน้าที่ค้ำคางศพไว้ไม่ให้คอตก ไม่ใช่ไม้เสียบทวารที่คนปากพล่อยพูดๆกันไปจนเด็กรุ่นหลังเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง                                                                                                             
    ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผมมีหน้าที่ไปร่วมงานพระพิธีพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้านายองค์หนึ่งที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร ผมไปก่อนเวลาที่พระศพจะมาถึงมาก ประตูด้านหน้ายังปิด แต่ประตูด้านหลังเปิดไว้จึงเดินเข้าไป พวกสนมพลเรือนกำลังตระเตรียมงานอยู่ เห็นพระโกศลองในอยู่บนฐาน วางรอไว้กับพื้น เปิดฝาเอาไว้ ภายในพ่นสีแดงสด ก้นเป็นตะแกรง แลลอดลงไปเห็นฐานเว้าเป็นกระทะหงายมีรูตรงกลาง จำไม่ได้ว่าเป็นชิ้นส่วนรูปบัวหงายที่แยกกันได้กับฐานหรือเปล่า เยื้องออกมาจากรูตรงกลางนั้นมีแกนเหล็กลักษณะเป็นปลอกนอก สำหรับเสียบก้านกลมเข้าไปข้างในได้ ตำแหน่งของแกนนี้จะตรงกับทวารพอดีถ้านั่งลงไป นี่คงเป็นสาเหตุของความเข้าใจผิดที่กล่าวกันมา พร้อมกันนั้นก็ได้เห็นกาจับหลักที่เขาวางไว้ น่าจะทำด้วยเหล็กเส้นกลม ตรงปลายเป็นจานเล็กๆ (ไม่ใช่เป็นตัวTหรือตัวY เช่นที่เคยอ่าน คงมีหลายแบบกระมัง) ก็เข้าใจได้ทันทีว่า ถ้าแกนดังกล่าวอยู่ด้านหน้าของศพก็จะตรงกับคาง พวกพนักงานกำลังง่วนอยู่กับการประกอบเบญจาในขั้นตอนสุดท้าย ด้านหลังที่เปิดอยู่แลเห็นท่อพลาสติกใส ขนาดสักหนึ่งนิ้ว ต่อจากปลายที่เสียบทะลุพื้นชั้นบนสุดลงมาที่ไหเซรามิก มีฝาผนึกปิดอย่างดีพร้อมก้านให้ท่อเสียบได้สนิท ไม่เห็นมีท่อไม้ไผ่อะไร คงเพราะมีของดีกว่าก็ใช้ของนั้น วิวัฒนาการกันไปตามกาลสมัย
    ผมอยู่ตรงนั้นไม่นานแต่มันติดตามมาถึงบัดนี้ แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้บันทึกไว้เป็นทั้งภาพทั้งอักษร ก่อนที่ตนจะหลงลืมหมดสภาพ                                                                                             
             
    ทั้งหมดที่นำเสนอนี้ ก็หวังว่าท่านทั้งหลายจะเข้ามาร่วมวง เสริมแต่งให้ใกล้ความเป็นจริงที่สุด เพื่อใช้อ้างอิงได้ก็จะเป็นการดีนะครับ

    ภาพวาดทีผมเขียนขึ้นโดยอาศัยนายแบบในภาพที่แล้ว ร่างกายของศพจะอยู่ในท่าประมาณนี้ ละไว้มิได้เขียนเครื่องสุกำ คือผ้าตราสังขาวและเชือกฝ้ายมัดไว้  ๕เปาะให้คงท่า หรือหมอนที่วางประคับประคองร่างไว้อีกทีหนึ่ง ส่วนไม้หลักที่อยู่ในโกศ เรียกว่ากาจับหลัก ทำหน้าที่ค้ำคางศพไว้ไม่ให้คอตก ไม่ใช่ไม้เสียบทวารที่คนปากพล่อยพูดๆกันไปจนเด็กรุ่นหลังเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง                                                                        
                                                                                                                                                                                                                                                     ***************************************************************************************************************                 ขอบคุณที่มา : Pantip.com  จากคุณ :  Navarat.C                     http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/11/K7236250/K7236250.html