27 ตุลาคม 2559

5 สิ่งที่คนชรา เสียใจที่สุดในชีวิต ?


5 สิ่งที่คนชราเสียใจที่สุดในชีวิต..........

นิตยสารเบลเยี่ยมฉบับหนึ่ง ได้สำรวจผู้สูงอายุทั่วประเทศด้วยคำถามที่ว่า  “อะไรคือสิ่งที่คุณเสียใจที่สุด?”  คำตอบมีดังนี้


อันดับที่ 5
45%  เสียใจที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี

อันดับที่ 4
57%  เสียใจที่ไม่ได้รักและถนอมคู่ชีวิตให้ดี

อันดับที่ 3
62%  เสียใจที่ไม่ได้สั่งสอนในสิ่งที่เหมาะที่ควรให้กับลูกของตัวเอง

อันดับที่ 2
73%  เสียใจที่ตัดสินใจเลือกอาชีพผิดตั้งแต่ตอนหนุ่มสาว

อันดับที่ 1
92%  เสียใจที่ตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวไม่มีความมุมานะพอ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง

.................................................

คนหนุ่มสาวทั้งหลาย ชีวิตของเธอในยามนี้ผิดแล้วยังมีเวลาแก้ไข
เมื่อวันหนึ่งเธอเข้าสู่วัยชรา ต่อให้เธออยากแก้ไข เวลาก็ไม่เอื้ออำนวยต่อเธออีกแล้ว
ทำสิ่งใดให้รู้จักคิด
คิดสิ่งใดให้เป็นสิ่งดี
ชีวิตนี้ย่อมไม่สูญเปล่า

                หากชอบ และถูกใจ  กดแชร์ แบ่งปันกันไปนะคะ  ^^  


22 ตุลาคม 2559

ข้อควรรู้ เตรียมตัว ก่อนเข้าร่วมถวายสักการะพระบรมศพ 29 ต.ค. 2559

            ภายหลังสำนักพระราชวังได้ออกประกาศเปิดพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ โดยเริ่มในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 นี้นั้น 
           จึงได้รวบรวมเกร็ดความรู้ข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้นำไปปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนเดินทางเข้าถวายสักการะพระบรมศพได้อย่างถูกต้อง




การแต่งกาย
1. ชุดดำ (สุภาพ ไม่มีลวดลาย ไม่รัดรูป เป็นเสื้อมีแขน คอไม่กว้าง ไม่มีตราสัญลักษณ์)
2. เสื้อเทา หรือ ขาว (สุภาพ) ติดริบบิ้นสีดำที่หน้าอกซ้าย หรือแขนด้านซ้าย
3. กางเกงขายาว (หากจำเป็นต้องใส่กางเกงยีนส์ ห้ามมีรอยขาด และต้องเป็นยีนส์สีดำเท่านั้น)
4. กระโปรง หรือชุดเดรส ควรเป็นกระโปรงที่ยาวคลุมเข่า แบบที่สุภาพเรียบร้อย สำหรับชุดเดรสที่เป็นแขนกุด ควรหาเสื้อนอกสีดำแบบเรียบๆ มาคลุมทับ
5. สวมรองเท้าหุ้มส้น
ข้อควรรู้
1.ไปถึงให้เร็วที่สุด (เปิดให้เข้าถวายสักการะพระบรมศพตั้งแต่เวลา 09.00 น.- 16.00 น.)
2.ไปเข้าแถวที่ถนนหน้าพระธาตุเท่านั้น
3.งดถ่ายภาพและงดเซลฟี่
4.เตรียมร่มพัดลมมือถือและเสื่อผืนเล็กๆ ไปด้วย เพื่อใช้รองนั่งรวมถึงใช้บังแดด-ฝนระหว่างรอเวลา
5.หิ้วน้ำ-ขนมติดมือ ป้องกันความหิวกระหาย
6.หากสวมรองเท้าแตะให้นำถุงหิ้ว หรือกระเป๋าติดมือไปใส่ด้วย
7.ห้ามสวมแว่นตาดำ
8.อดทน มองโลกในแง่ดี
9. สำรวม เรียบร้อย
10. เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

**************************
ขอแจกแจงให้ดูว่า ผู้หญิงที่จะไปถวายบังคมพระบรมศพจะต้องแต่งตัวยังไง 
(ของผู้ชายง่ายไม่ยุ่งยาก) 

โดยเครื่องแต่งกายที่ถูกต้อง หรือบังคับสำหรับดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงจะต้องแต่ง "ชุดไทยจิตรลดา"  ชุดไทยที่เป็นเสื้อแขนกระบอกนุ่งกับผ้าซิ่น ผู้แต่งไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์


สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้าถวายบังคมพระบรมศพควรแต่ง  ดังนี้

1. ต้องแต่งกายด้วยชุดดำ เสื้อดำและประโปรงดำทั้งชุด 


2. กระโปรงที่ใส่จะต้องมีความยาวคลุมเข่า ลงไปเท่านั้น


3. สามารถใส่เดรสได้ แต่ความยาวของเดรสจะต้องคลุมเข่าเช่นกัน



4. กระโปรงที่สวมนอกจากจะต้องคลุมเข่าแล้ว ห้ามมีลวดลาย หรือเป็นกระโปรงหนังเงาสะท้อนแสง



5. เสื้อที่สวมไม่ควรสวมเสื้อคอลึก ปาดไหล่



6. ไม่ควรสวมเสื้อสั้นๆ เอวลอย ไม่สุภาพ


7. ไม่ควรเป็นเสื้อรัดรูป หรือมีการเปิดโชว์มากไป เช่นการโชว์แผ่นหลัง การโชว์ไหล่หรือเอว


8. ห้ามสวมเสื้อแขนกุด


9. ห้ามสวมเสื้อ หรือชุดที่มีลวดลาย




10. รองเท้าที่สวมควรเป็นรองเท้าคัทชู หุ้มส้น หากเป็นรองเท้าแตะรัดส้น สามารถถอดออกได้ (ควรเตรียมถุงใส่รองเท้าป้องกันการใส่ผิดคู่ หรือรองเท้าหาย)


เมื่อรู้แล้วก็สวมใส่ให้ถูกต้องนะคะ ทำตามกฏเพื่อเป็นการให้เกียรติพระบรมศพและให้เกียรติตัวเองคะ 



ขอบคุณ ที่มา : Ded-d.com และ Mthai.com


21 ตุลาคม 2559

MVเพลง"เหมือนเคย" ที่เปิดในงานครบรอบวันบรมราชาภิเษกสมรส ในหลวง ร.๙ - พระราชินี



 "บอย โกสิยพงษ์" ปลาบปลื้ม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลือกเพลง "เหมือนเคย" ประกอบพรีเซนเทชั่นครบรอบวันอภิเษกสมรส ซึ่งเพลงนี้ขับร้องโดย เศรษฐา ศิระฉายา


"ตลอดเวลา ๖๖ ปี ที่ทั้งสองพระองค์ประทับเคียงคู่กันมา ความรักของพระองค์ไม่เคยทำให้พสกนิกรชาวไทยต้องผิดหวัง ทั้งยังคงแผ่ไพศาลมาสู่พวกเราทั่วทุกคน
น้อมเกล้าฯสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ อย่างหาที่สุดมิได้  #ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์"

ที่มา : เฟสบุ๊ค @Piyapas Bhirombhakdi  






น้อมเกล้าฯสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้า ล้นกระหม่อม อย่างหาที่สุดมิได้ 

-----------------------------------------------------------------------------

DIY :: ถักโครเชต์ โบดำร่วมไว้อาลัย



เพื่อน ๆ หลายๆ คนเป็นกังวลเพราะไม่ค่อยมีเสื้อผ้าสีดำ จะแต่งตัวออกจากบ้านก็กลัวจะโดนมองว่าไม่สุภาพ  จะซื้อใหม่เยอะๆ ก็อาจไม่ได้มีงบมากขนาดนั้น แต่จริงๆ เรายังมีวิธีที่จะพอทำได้ เพื่อร่วมถวายความอาลัย โดยไม่ต้องซื้อชุดดำใหม่เยอะได้นะคะ มาดูวิธีทำกันนะ


PradidPradoy       
 ประดิดประดอยวิธีการถักโบสีดำ  เพื่อร่วมถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างง่ายสำหรับผู้ไม่มีเสื้อสีดำ เราใช้ไหมพรมสีดำในการถักโครเชต์ทำโบไว้อาลัย ซึ่งจะได้โบดำขนาดสำเร็จ 7.5 ซม.  แต่ที่เลือกใช้ ไหมพรมสีเทาในคลิปเพราะต้องการให้เพื่อน ๆ ได้เห็นลาย และวิธีการถักที่ง่ายขึ้นคะ 
น้อมถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

อุปกรณ์
ไหม4ply  / เข็มเบอร์2 
ขนาดสำเร็จประมาณ  7.5ซม.


ที่มา : maeban.co.th / ประดิดประดอย

20 ตุลาคม 2559

พืชสมุนไพร "มะกรูดหอมใบเตย" สวยงาม สารพัดประโยชน์


         งานฝีมือจากพืชสมุนไพร  "มะกรูดหอมใบเตย" สวยงาม มีประโยชน์มากมาย ไว้สำหรับแขวนเป็นพวงมาลัย ใส่พานรองบูชาพระ แขวนในรถ ในบ้าน ตู้เสื้อผ้า หรือใช้ดับกลิ่นได้  กลิ่นธรรมชาติไม่ปรุงแต่ง ไม่มีสารพิษ

            ผู้ทำ "มะกรูดหอมใบเตย"   คุณป้าอังกาบ  พรรณสุข อายุ 72 ปี   จาก ห้องเรียนสว. : มะกรูดหอมใบเตยสอนวิธีทำอย่างละเอียดทุกขั้นตอน  สามารถนำไปทำได้ทันทีเลยคะ 


วัตถุดิบ/อุปกรณ์

  1. ตะปู ขนาดเล็ก
  2. ไม้เสียบลูกชิ้น ขนาดใหญ่
  3. ดอกไม้สำหรับตกแต่ง ชายมาลัย
  4. มะกรูด
  5. ใบเตย



        วิธีทำ
  1. เลือกใบเตย  ตัดเป็นชิ้นๆละขนาด 2นิ้ว ใช้ช่วงใบที่แข็ง 1ใบได้ประมาณ 3ชิ้น
  2. นำใบเตยที่ตัดแล้ว ขนาด 2นิ้ว มาผ่าเอาแกนกลาง ของใบเตยออก ให้ได้ขนาดเท่ากันเพื่อความสวยงาม
  3. ใช้ไม้เสียบ ลูกมะกรูดทะลุหัวท้าย ลูก เพื่อใช้นำทางเวลาผูกเชือก และถือง่ายในการทำ
  4. นำใบเตย มาพับทีละใบ ม้วนเอาได้เงาออก ใช้ตะปูเสียบให้ติดกับลูกมะกรูด ทำสลับไปเรื่อยๆ เป็นพุ่ม จนเต็มลูก
  5. จากนั้น นำมาผูกโบว์ สำหรับแขวน และผูกชาย ด้วยอุบะดอกไม้  หรือ อุบะใบเตย ก็ได้ตามใจชอบได้เลยคะ



           คลิปสอนวิธีทำ มะกรูดใบเตย

  ที่มา : ห้องเรียนสว. : มะกรูดหอมใบเตย Thaipbs 

          

พระบรมราโชวาท ที่คนวัยทำงานควรนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตทำงาน

      

    ขอเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ซึ่งได้รวบรวมจากวาระโอกาสต่างๆเพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติงานต่างๆให้ลุล่วงและสำเร็จไปได้ด้วยดี ไม่ว่าจะพสกนิกรชาวไทยคนไหน ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานหรือในชีวิตประจำวันได้เช่นกันทุกคนคะ

1.  ไม่ตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไข
     "เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น"
     พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530

2.  นำความรู้ทางทฤษฎีและทางปฏิบัติมาใช้อย่างสอดคล้อง
     "...ความรู้ที่ศึกษามา ซึ่งเป็นความรู้ทางทฤษฎี นั้นคือรากฐานและต้นทุนสำคัญสำหรับที่จะนำไปปฏิบัติงานการ ความรู้ทฤษฎีนี้ จำเป็นที่จะต้องทบทวนเสริมสร้างอยู่เสมอและนำมาประกอบการปฏิบัติ เมื่อเอาความรู้ทางทฤษฎีมาประสมประสานปรุงแต่งกับความรู้จากการปฏิบัติอย่างสอดคล้องเหมาะสมแล้ว งานที่ทำก็จะบรรลุผลที่จะพึงภาคภูมิใจได้สมปรารถนา..."
       พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 23 มิถุนายน 2519

3.  ความสามัคคี ก็สำคัญในการทำงาน
     "...ปัญหาทุกอย่างมีทางที่จะแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆคนหลายๆทางด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จ..."
     พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 กรกฎาคม 2533

4.  ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
     ''...การทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขตและ หลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถ ปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง และ ถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกันและ ขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า ทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง...''
     พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  17 กรกฎาคม 2530

5.  จริงใจในการทำงาน
     ''...การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความ สุจริตกาย สุจริตใจ ด้วยความคิดเห็น ที่เป็นอิสระปราศจากอคติ และด้วยความถูกต้องตามเหตุตามผลจึง จะช่วยให้งานบรรลุจุดมุ่งหมาย และประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วนแท้จริง...''  
     พระบรมราโชวาท พระราชทานในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2528
6.  รู้ถึงแก่นสาระและประโยชน์ของงาน
     ''...เมื่อจะเริ่มงานสิ่งใด ให้พยายามคิด พิจารณาให้เห็นจุดหมายเห็นสาระและประโยชน์ ที่แท้จริงของงานนั้นอย่างแจ่มแจ้ง แล้วจึง ลงมือทำด้วยความตั้งใจ มั่นใจ ด้วยความ รับผิดชอบอย่างสูง ให้ดำเนินลุล่วงตลอดไปอย่าง ต่อเนื่อง โดยมิให้บกพร่องเสียหาย...''
     พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล 5 กรกฏาคม 2533

7.  หยิบยื่นเมตตาไมตรีให้แก่เพื่อนร่วมงาน
     "...หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จและเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือ การไม่ทำตัว ทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตาและไมตรียินดี ประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ...''
     พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18 กรกฎาคม 2530  

ที่มา :  เรียบเรียงโดยทีมงาน women.truelife.com


19 ตุลาคม 2559

แนะ 80 วิธีทำความดีง่ายๆ ถวายพ่อหลวง รัชกาลที่ 9


       80 วิธีทำดีต่อตนเอง ต่อสังคมรอบข้าง ตลอดจนประเทศชาติ มาให้ทุกคนได้ลองเลือกไปปฏิบัติตามความถนัด และความชอบ เพื่อนำมาซึ่งความสุขและความสมานฉันท์ของชาติและเพื่อถวายแด่  “ ในหลวง รัชกาลที่ 9” ที่รักยิ่งของเรา ดังต่อไปนี้
       

       -ทำดีต่อตนเอง    เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราได้รู้สึกดีๆ และพร้อมที่จะแบ่งปันความสุขไปให้ผู้อื่น ได้แก่  

1.  ตื่นขึ้นมาอย่างกระตือรือร้นทุกเช้า พร้อมยิ้มแย้มแจ่มใสรับวันใหม่ 
2. ไหว้พระก่อนออกจากบ้านเพื่อเตือนสติและเพื่อสิริมงคลแก่ตน 
3.  สวัสดีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ก่อน และหลังกลับจากโรงเรียนหรือที่ทำงานทุกครั้ง 
4.  ตั้งใจไม่โมโห หรือไม่โกรธใคร อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 วัน 
5.  ไม่พาตัวไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวง
6.  อ่านหนังสือดีๆอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อเสริมสร้างสติปัญญา และนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
7.  พูดคำว่า “ ขอบคุณ ” หรือ “ ขอบใจ ” ทุกครั้ง เมื่อผู้อื่นทำอะไรให้ เช่น ช่วยถือของ ให้บริการ 
8.  อย่าลืม “ ขอโทษ ” เมื่อทำผิดต่อผู้อื่นทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ หรือเมื่อทำสิ่งใดผิดพลาด 
9.  มีหลักการ ยึดมั่นในคุณความดี และมีความเพียรพยายาม 
10.  ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ด้วยการตั้งใจทำสิ่งใด ก็เพียรทำให้สำเร็จ ไม่เบี้ยวแม้แต่กับตนเอง
       
       -ทำดีต่อครอบครัว   ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเราที่สุด และมีผลต่อความสุขของสมาชิกทุกคน ได้แก่ 

11.  ลดการบ่นว่า ดุด่าคนในครอบครัวให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นลูก สามี/ภริยา พี่น้อง เพื่อลดความเครียดในบ้านและทำให้ทุกคนรู้สึกบ้านน่าอยู่ไม่ร้อนหูร้อนใจ 
12.  พาสมาชิกในครอบครัวไปกินอาหารนอกบ้านหรือไปเที่ยวบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ 
13.  ช่วยกันลดรายจ่ายด้วยการไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น เพื่อมิให้เป็นหนี้สินหรือเงินไม่พอใช้ 
14.  ไม่คิดจะมีกิ๊ก หรือเป็นชู้กับสามี/ภริยาผู้อื่น อันเป็นสาเหตุให้ครอบครัวเราและผู้อื่นเกิดความแตกแยก 
15.  พูดจาไพเราะ สุภาพกับสมาชิกในบ้าน ไม่ตะคอกด่าทอหรือจิกเรียกด้วยถ้อยคำหยาบคาย 
16.  มีสัมมาคารวะ และแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ในบ้านทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือพี่ป้าน้าอา เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน
17.  มีน้ำใจกับคนในบ้าน เช่น ช่วยพ่อแม่ล้างถ้วยชาม ช่วยภริยากวาดถูบ้าน ช่วยพาพ่อ/แม่ของสามีหรือภริยาไปหาหมอ ซื้อของใช้ให้สามี/ภริยา 
18.  ไม่เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในบ้าน เช่น ฟังสามี/ภริยา ฟังลูกว่าต้องการอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน 
19.  พูดจาชมเชยและให้กำลังใจแก่สมาชิกในบ้าน เช่น ชมว่าแต่งตัวดี ทำกับข้าวอร่อย วาดภาพสวย เป็นต้น
20.  พาครอบครัวไปทำบุญสร้างกุศลร่วมกันในโอกาสวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด วันวิสาขบูชา ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกได้ใกล้ชิดกับพระศาสนา และได้เห็นแบบอย่างการทำดีอย่างเป็นรูปธรรม
       
       -ทำดีต่อเพื่อนบ้าน    ซึ่งอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน หากปลูกไมตรีต่อกันได้ ย่อมจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ดังนั้น จึงควรทำดีต่อกัน ดังนี้ 

21.   ยิ้มและทักทายเมื่อพบกัน
22.  ช่วยดูแล สอดส่องบ้านให้เมื่อเพื่อนบ้านไม่อยู่ หรือไปต่างจังหวัด หรือช่วยแจ้งเหตุหากมีสิ่งใดผิดปกติ 
23.  ซื้อของขวัญหรือของฝากไปให้บ้างตามโอกาส เช่น วันปีใหม่ วันตรุษจีน หรือเมื่อกลับจากต่างถิ่น เพื่อเป็นการผูกมิตรหรือขอบคุณเขาที่ช่วยดูบ้านให้
24. ไม่เลี้ยงสัตว์หรือปลูกต้นไม้ที่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจมาสู่เพื่อนบ้าน หรือเป็นมูลเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน เช่น สัตว์ส่งเสียงดังรบกวน หรือใบไม้ร่วงไปรกบ้านเขา 
25. ไม่จอดรถขวางทางเข้าบ้านของเขา หรือในที่ที่เขาจอดประจำ 
26. ไม่พาสัตว์เลี้ยงเช่น หมา แมว ไปอึหรือฉี่หน้าบ้าน ต้นไม้ของเขา 
27. ไม่เปิดวิทยุ โทรทัศน์ หรือคาราโอเกะเสียงดังจนรบกวนเขา โดยเฉพาะในวันหยุด 
28.  ไม่ซ้อมดนตรี /จัดงานหรือส่งเสียงเอะอะ โวยวายรบกวนเพื่อนบ้าน ควรจะจัดเวลาซ้อมที่ไม่เช้าหรือดึกเกินไป หรือไม่ก็ควรจะไปซ้อมที่อื่น และไม่ควรพาเพื่อนมาตั้งวงกินเหล้าส่งเสียงดัง หนวกหูชาวบ้านเขาทุกอาทิตย์ 
29.  ไม่กวาดขยะไปกองหรือทำสกปรกหน้าบ้านผู้อื่น ควรกวาดและเก็บใส่ถุงหรือถังขยะให้เรียบร้อย 
30.  ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ที่จัดขึ้นในหมู่บ้านหรือชุมชนของเราเองบ้างตามโอกาสอันควร
       
   -ทำดีต่อเพื่อนร่วมงาน   ซึ่งจะทำให้การทำงานของเราราบรื่น เกิดความสามัคคี และมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของเราด้วย ได้แก่ 

31.  ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักโอภาปราศรัยต่อเพื่อนร่วมงาน ไม่ทำเมิน หรือทำหน้าเฉยเมยไร้ชีวิตเมื่อเจอกัน 
32.  ช่วยแนะหรือสอนงานที่เรามีความชำนาญให้ 
33.  แสดงความยินดีหรือชมเชยเมื่อเขาประสบความสำเร็จหรือได้รับรางวัล 
34.  ซื้อของขวัญ ให้เงิน หรือการ์ดอวยพรในโอกาสต่างๆ เช่น วันเกิด วันแต่งงาน คลอดลูก 
35.  แสดงความเสียใจหรือปลอบใจเมื่อเขาประสบเหตุหรือโชคร้าย เช่น พ่อแม่ตาย ถูกขโมยขึ้นบ้าน 
36.  ช่วยเหลือ ตักเตือนหรือชี้แนะเมื่อเขาทำผิดพลาดด้วยความจริงใจ ไม่ซ้ำเติม 
37.  ไม่ขโมยผลงานของเขามาเสนอเป็นผลงานของเรา 
38.  ไม่ใส่ร้ายป้ายสี หรือยุยงให้เพื่อนร่วมงานแตกคอ หรือทะเลาะวิวาทกัน 
39.   แนะนำหนังสือ ร้านอาหาร วัด หรือสถานที่ดีๆแก่เพื่อนให้เขาได้ไปใช้บริการบ้าง 
40.  รู้จักอยู่ช่วยงานหรือร่วมกิจกรรมที่เพื่อนในหน่วยงานจัดขึ้น แม้จะมิใช่งานของเรา เพื่อจะได้รู้จักสนิทสนม และทำงานเข้าขากันได้มากขึ้น
       
      -ดีต่อหน่วยงานหรือที่ทำงานของตน    ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ประกอบอาชีพ ทำให้เรามีกินมีใช้ เราจึงควรต้องกตัญญูรู้คุณ ด้วยการ 

41.  ซื่อสัตย์ต่อหน่วยงาน ไม่โกงเวลา โกงทรัพย์สินของหน่วยงาน 
42.  ไม่นินทาว่าร้าย หรือดูถูกหน่วยงานของเราเอง หากเราคิดว่าไม่ดี ก็ควรออกไปหางานอื่นทำ 
43.  ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น 
44.  เมื่อเห็นสิ่งใดไม่ดีในหน่วยงาน ต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไข ไม่ใช่ซ้ำเติมหรือเมินเฉย 
45.  ให้บริการหรือพูดจากับผู้มาติดต่อกับหน่วยงานให้สุภาพ ไพเราะเพื่อให้เกิดความประทับใจที่ดี
46.  ใช้ทรัพยากรต่างๆของหน่วยงานอย่างประหยัด คุ้มค่าให้เหมือนสมบัติของเราเอง 
47.  ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ ทำลายระเบียบที่ดีจนหน่วยงานเละเทะ ยุ่งเหยิงเพราะต่างทำตามใจตนเองจนควบคุมไม่ได้ 
48.  รู้จักเสียสละเพื่อหน่วยงานบ้างบางโอกาส เช่น ทำงานโดยไม่เอาโอ.ทีหรือร่วมลงขันจัดกิจกรรมให้หน่วยงาน 
49.  ช่วยกันสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีให้หน่วยงาน เช่น แข่งกีฬาชนะเลิศ จัดทำโครงการดีๆเพื่อสังคม 
50.  ต้องมีความภาคภูมิใจในหน่วยงานของตน
       
       -ดีต่อสังคม    ซึ่งมีเราเป็นหน่วยหนึ่ง ก็จะทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆตัวเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น เพราะจะเต็มไปด้วยความเอื้ออาทร และความมีไมตรีจิตต่อกัน ด้วยการ 

51.  ส่งของกิน ของใช้ หรือเงินไปบริจาคมูลนิธิต่างๆเมื่อถึงวันเกิด หรือวันสำคัญอื่นๆของตน
52.  ทำหนังสือชมเชยไปยังบุคคล หรือหน่วยงานที่ให้บริการที่ดีเพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น เช่นเขียนไปชมกระเป๋ารถเมล์ที่พูดจาดี ช่วยพยุงคนแก่ขึ้นรถ
53.  ช่วยกันรักษาความสะอาดและถนอมใช้สมบัติสาธารณะให้มีอายุยืนนาน เช่น ไม่ขีดเขียนในห้องน้ำสาธารณะ ไม่ทิ้งขยะ/ถ่มน้ำลายบนถนนหนทางหรือในแม่น้ำลำคลอง
54.  ช่วยกดลิฟท์ให้กับผู้ร่วมทาง หรือช่วยถือของหนักให้กับคนบนรถเมล์ 
55.  ไม่แซงคิวใดๆที่เขากำลังเข้าแถวรอรับบริการ เช่น ซื้อตั๋วหนัง หรือเข้าส้วม 
56.  นำหนังสือดีๆ หรือหนังสือธรรมะ ไปบริจาคตามโรงพยาบาลรัฐ เช่น ห้องรอรับการรักษา ห้องพักผู้ป่วย ห้องพยาบาล เป็นต้น เพื่อเป็นการแนะวิธีปฏิบัติตน และช่วยปลุกปลอบใจ 
57.  ขับรถตามกฎจราจร มีน้ำใจให้กับรถคันอื่น ไม่แซงซ้ายป่ายขวา และจอดรถให้คนข้ามถนนบ้าง
58.  อ่านหนังสือธรรมะ หรือหนังสือดีๆใส่เทป ซีดี ส่งไปให้คนตาบอดฟัง 
59.  รับเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ
60. ให้ความช่วยเหลือ/แนะนำแก่ผู้อื่นในสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยทำ เช่น แนะวิธีคาดเข็มขัดบนเครื่องบิน แนะวิธีใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายในฟิตเนส
       
       -ดีต่อศาสนา     อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เราจึงควรสืบทอดศาสนาให้ยั่งยืนต่อไปยังลูกหลานของเราด้วยการ 

61.  ศึกษาหลักธรรมในศาสนาของเราให้รู้จริง
62.  ปฏิบัติตามธรรมะที่ศาสดาสอนไว้ 
63.  ช่วยเหลือแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง 
64.  ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาอื่น อันเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยก 
65.  ทำบุญตามหลักศาสนาของตนอย่างน้อยเดือนละครั้ง 
66.  สั่งสอนและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีกับอนุชนรุ่นหลัง 
67. ไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำลายผู้อื่น 
68. ไม่ใช้ศาสนาไปหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในทางที่ผิด 
69.  หากเป็นพระ นักบวชต้องทำตนเป็นแบบอย่างและแนะแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควรแก่ศาสนิกชน 
70.  เชื่อมั่น และตั้งใจที่จะช่วยสืบทอดศาสนาทุกวิถีทางที่ดีและถูกต้อง
       
       -ดีต่อชาติบ้านเมือง     ซึ่งเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดหรือให้เราได้อยู่อาศัย เราจึงควรตอบแทนด้วยการ 

71.  ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือตำแหน่งใด 
72.  ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ใส่ตัวหรือพวกพ้อง และไม่คิดคอรัปชั่นหรือคดโกงด้วยวิธีการใดๆ 
73.  ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตน 
74.  ช่วยปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเมื่อมีโอกาส 
75.  ไม่เมินเฉยหรือละเลยให้ผู้อื่นมาฉกฉวยผลประโยชน์จากชาติบ้านเมืองของเรา 
76.  ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 
77.  สอนลูกหลานให้รักและภาคภูมิใจในชาติของเรา 
78.  ตั้งใจศึกษาหาความรู้ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างเต็มที่ 
79.  มีความรักความสามัคคีต่อกันในทุกระดับ 
80.  ช่วยกันรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของประเทศ
       
       ทั้งหมดคือตัวอย่าง  การ “ ทำความดี ” อันหลากหลาย  ที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ แม้บางข้อดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่อย่าลืมว่าหากเราทุกคนตั้งใจทำ ความดีเล็กๆเหล่านี้ก็สามารถรวมเป็น  “ พลังอันยิ่งใหญ่ ” ที่ทำให้ทุกคนเป็นสุข  เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และมีผลทำให้ชาติบ้านเมืองร่มเย็นได้ และน่าจะเป็นสิ่งที่  “ ในหลวง ” ของเรา คงทรงยินดีที่ราษฎรของพระองค์สร้างความดีแก่ตัวและผู้อื่นมากกว่า การสร้างถาวรวัตถุใดๆ  ถวายพระองค์ท่านอย่างแน่นอน
       

ที่มา  :    กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  เนื่องในโอกาสวันปีใหม่ 2550 ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9




15 ตุลาคม 2559

ใส่ชุดยูนิฟอร์ม หรือไม่มีชุดดำ แต่งกายไว้ทุกข์ยังไงได้บ้าง?


    ในช่วงไว้อาลัยนี้หลายๆ คนเป็นกังวลเพราะไม่ค่อยมีเสื้อผ้าสีดำ จะแต่งตัวออกจากบ้านก็กลัวจะโดนมองว่าไม่สุภาพ  จะซื้อใหม่เยอะๆ ก็อาจไม่ได้มีงบมากขนาดนั้น แต่จริงๆ เรายังมีอีกหลายวิธีที่จะพอทำได้ โดยไม่ต้องไปซื้อชุดใหม่ให้ลำบากหรือสิ้นเปลืองมากมายนะคะ

1. เสื้อผ้าสีขาว เทา ก็ใช้ได้
เสื้อผ้าสีอื่นอย่างขาว เทา ก็ใช้ได้นะคะ เพียงแต่เลือกแบบและลายให้เหมาะสมก็พอ

2. ติดแถบผ้าดำหรือปลอกแขนทุกข์ที่แขนซ้าย

การติดแถบผ้าดำ หรือปลอกแขนทุกข์ ถือเป็นสัญลักษณ์การไว้อาลัยที่ทุกคนรับรู้ร่วมกัน จะเป็นแค่ชิ้นผ้าสี่เหลี่ยมเล็ก หรือแบบแถบผ้าพันแขนสีดำขนาดกว้าง 4 นิ้วก็ได้ค่ะ "ติดที่แขนซ้าย" เพียงแต่เน้นให้รูปแบบและสีของเสื้อผ้านั้นสุภาพหน่อยก็พอ  ส่วนชุดขององค์กร ชุดนักศึกษา ถือเป็นชุดสุภาพอยู่แล้วนะคะ





จะใช้เป็นปลอกแขนทุกข์สำเร็จรูป หรือแถบผ้ากลัดเข็มกลัดเอง หรือเป็นชิ้นผ้าสีดำเล็กๆ ก็ได้ค่ะ

3. ติดริบบิ้นสีดำ

อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้คือการติดริบบิ้นหรือโบว์สีดำที่บริเวณหน้าอกหรือปกเสื้อค่ะ จะเป็นในรูปแบบไหนก็ได้ ใครจะซื้อโบว์มาทำเองเลยก็ได้ หรือหาซื้อแบบสำเร็จรูปก็ได้เหมือนกันค่ะ





ใช้ได้ทั้งสองแบบนะคะ ใครมีโบว์ผูกผมอยู่แล้วก็เอามาทำได้เลยค่ะ ไม่ต้องซื้อใหม่ให้สิ้นเปลือง

4. ใช้ผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่สีดำมาคลุม

สาวๆ ที่ใส่เสื้อแขนกุด หรือรู้สึกว่าเสื้อไม่ค่อยเรียบร้อย ถ้ามีผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่โทนสีดำก็เอามาใช้คลุมเวลาออกจากบ้านได้เลยค่ะ มีติดตู้กันไว้สักผืน เก็บไว้ใช้ได้ตลอด




ผ้าพันคอสีดำแบบเรียบๆ ไม่เอาแบบขนฟูฟ่องฟรุ้งฟริ้งนะคะ

5. ซื้อสีย้อมผ้าสีดำมาย้อม

อาจจะฟังดูตลกไปนิด แต่เอมเชื่อว่าหลายๆ คนก็อาจมีเสื้อสีต่างๆ หรือรองเท้าผ้าใบที่ดูเก่าแล้ว แต่ยังใส่ได้อยู่ รวมถึงการซื้อเสื้อดำในตอนนี้ก็อาจแพงมาก อาจจะใช้วิธีซื้อเสื้อสีอื่นมาแล้วซื้อสีย้อมผ้าสีดำมาย้อมทับไปก็ได้นะคะ ราคาเพียงหลักสิบบาทเท่านั้นเองค่ะ  ** มีสาวจีบันแนะนำมาว่า ยี่ห้อ Dylon ใช้ง่าย ติดดี ลองไปตามหากันดูนะคะ **

หาซื้อได้ตามร้านเย็บปักถักร้อย, B2S, แผนก Be Trend, ร้านขายเครื่องเขียน (ที่ร้านสมใจก็มีนะคะ) ใครไม่สะดวกก็เสิร์ช Google ซื้อออนไลน์เอาได้เลยค่ะ



สีย้อมผ้ามีหลายแบบ เลือกกันตามสะดวก แต่สาวจีบันแนะนำ Dylon ติดดี ใช้ง่ายค่า
4 วิธีนี้ เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกชุด แต่เน้นเสื้อผ้าให้เป็นสีและแบบที่สุภาพหน่อย หากไม่ใช่โทนสีขาว เทา ดำ ก็อาจเป็นสีอ่อน ครีม เบจ หรืออื่นๆ ก็ได้นะคะ

       ท้ายที่สุดแล้ว "การแสดงความอาลัยนั้นอยู่ที่ใจของเราทุกคน ไม่ใช่แค่ที่ภายนอก" ความสะดวกในการซื้อหาเสื้อผ้าของแต่ละคนนั้นต่างกัน แค่เพียงเราทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ไม่เดือดร้อนตัวเอง ไม่ต้องซื้อหาของใหม่ให้สิ้นเปลืองก็สามารถแสดงถึงความอาลัยและให้เกียรติท่านได้เหมือนกันค่ะ



ที่มา :  jeban.com ,  aimmellow


            หากชอบ และถูกใจ กดแชร์ แบ่งปันกันไปนะคะ  ^^  

14 ตุลาคม 2559

บทสรุปเรื่อง "โกศ" เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระบรมโกศ
โดยที่ตัวผมเองเคยมีความข้องใจตลอดมาว่า ศพที่เข้าโกศนั้นถูกบรรจุจัดลงให้อยู่ในท่าทางอย่างไร

เนื่องจากตัวโกศนั้นไม่ได้ใหญ่โตกว้างขวางขนาดที่ผู้ใหญ่ธรรมดาๆจะลงไปนั่งอย่างสบายๆได้ เรื่องที่เล่าขานกันหรือที่บันทึกไว้ในเชิงตำนานก็นึกภาพตามไม่ออก คนที่รู้เรื่องจริง ก็ไม่ยอมจะเปิดเผย ปล่อยให้ผู้คนเดาหรือเสริมแต่งกันไปจนน่ากลัว เช่นในโกศจะมีเหล็กแหลมไว้เสียบทวารกันศพล้ม หรือระบายน้ำเลือดน้ำหนองเป็นต้น เรื่องศพในโกศทุกวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องลึกลับ แม้แต่ในสมัยที่ยังนิยมเข้าโกศกัน ผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับพิธีการสนมพลเรือน ถึงเป็นญาติก็ยังถูกเชิญให้ออกจากห้อง ไม่ให้ดูกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งก็คงจะไม่น่าดูจริงๆ เพราะบางครั้งคงจะต้องมีการทารุณต่อศพอยู่บ้าง โดยเฉพาะศพที่มีรูปร่างอ้วนใหญ่ ซึ่งแม้คนขนาดธรรมดาๆก็คงต้องตัดเอ็น ดัดแข้งดัดขากันสาหัสอยู่แล้ว

สมัยนี้ ผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนใหญ่จึงสมัครใจที่จะยอมนอนตายในโลงธรรมดาอยู่หลังฉาก ส่วนโกศที่พระราชทานให้ตามเกียติยศนั้น ก็ตั้งออกงานไว้หน้าฉากตามฐานันดร ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงรู้จักการเข้าโกศจริงๆน้อยลงไปทุกที ถามใครก็หาคำตอบไม่ได้ นี่ขนาดคนไทยด้วยกันยังเป็นขนาดนี้ ถ้าเป็นชาวต่างประเทศก็ยิ่งแล้วกันไปใหญ่

ในอดีตครั้งรัชกาลที่๔ ฝรั่งเลวๆคนหนึ่งได้เขียนภาพพระศพในพระโกศเจ้านายระดับสูงยิ่งพระองค์หนึ่งขึ้นตามจินตนาการของตนเอง แล้วส่งไปตีพิมพ์ในปารีส ฝรั่งเศสกับสยามตอนนั้นเริ่มจะมีเรื่องเขม่นๆกันอยู่แล้ว ภาพที่เต็มไปด้วยอดติจึงมีขนาดขยายเต็มหน้า ที่น่าเจ็บใจก็คือ คนไทยเองบางคนก็เคยเอามาพิมพ์ประกอบในข้อเขียนของตนคล้ายๆกับยอมรับไปด้วย แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะว่าไปแล้ว มันก็เป็นภาพๆเดียวในโลกนี้ที่พยายามจะเผยความลับภายในโกศที่คนทั้งหลายอยากรู้

ผมจึงเขียนกระทู้นี้ขึ้น เพื่อแสวงหาความรู้ที่ถูกต้อง ให้ท่านทั้งหลายจะได้ร่วมกันเสริมแต่ง บันทืกไว้สำหรับคนไทยด้วยกันที่สนใจได้รับทราบในสิ่งที่ควรทราบ ไม่ให้ติดตากับรูปที่ฝรั่งเขียน มาใช้ ในยามที่ประเพณีการเข้าโกศได้หมดสมัยไปในที่สุด
    "คำว่าพระโกศหรือโกศ มักจะสร้างความสับสนในการเรียกขาน ที่ถูกต้องจะเรียกว่าพระลอง ดังเช่นงานพระราชพิธีครั้งที่ผ่านมา ผู้บรรยายจะเรียกพระโกศว่าพระลองทองใหญ่ ผมไม่แปลกหูสำหรับคำเรียกนี้ เพราะเคยไค้ยินบ่อย  แต่โกศสำหรับสามัญชน แทบจะไม่เคยได้ยินผู้ใดเรียกว่า ลองโถ ลองแปดเหลี่ยม  ลองราชวงศ์ เลย ยิ่งศพพระตามบ้านนอกที่ชาวบ้านช่วยกันทำโกศเอง จะไม่เคยเรียกเป็นอย่างอื่นทั้งนั้น ดังนั้นโกศชั้นนอกเช่นเดียวกับในภาพนี้ ผมจะเรียกว่าโกศลองนอกนะครับ"
    ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระบรมโกศ
    โกศนี้ เรียกว่าโกศลองใน เป็นภาชนะตัวจริงที่บรรจุร่างของผู้ตาย ประกอบด้วยตัวถัง เป็นโลหะแผ่นที่ถูกม้วนเป็นทรงกระบอกเชื่อมตะเข็บ ทาสี ปิดทองหรือหุ้มทอง เส้นผ่าศูนย์กลางปากบนประมาณ๖๔ช.ม.  ความสูงประมาณ๙๕ ช.ม. ด้านล่างเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ๔๖ช.ม. มีตะแกรงเหล็กเชื่อมไว้รับน้ำหนักตัวศพ ตะแกรงนี้มีไว้ในการเผาศพ

    ฐานที่ตั้ง เป็นไม้ ด้านบนเว้าลงเป็นรูปกระทะหงาย หรือมีแผ่นดีบุกรูปใบบัววางไว้รองรับของเหลวที่อาจเกิดขึ้นตามขบวนการย่อยสลายในสมัยโบราณ ตรงกลางส่วนเว้าที่ลึกสุดเป็นรูระบายบุพโพนี้ ซี่งมีท่อต่อลงสู่ภาชนะที่เรียกว่า “ถ้ำ” เบื้องล่าง
    ด้านบนเป็นฝา เมื่อปิดครอบลงแล้วจะยึดทุกส่วนที่ประกอบกันให้มั่นคงด้วยเชือก อุดรอยต่อด้วยขี้ผึ้ง กันกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จะรั่วซึมออกมา

    เมื่อนำโกศลองในไปตั้งบนแท่นแล้ว จึงประกอบโกศลองนอกที่ได้รับพระราชทานตามฐานันดรศักด์ สวมครอบไว้ ระหว่างพิธีธรรมต่างๆ

    ในวันพระราชทานเพลิงศพ โกศลองในเท่านั้นที่จะถูกนำไปตั้งบนจิตกาธานโดยไม่มีฐาน สมัยนี้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเพราะเป็นเพียงโกศเปล่าหรือบรรจุของบางอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ตายเท่านั้น  เมื่อเสร็จพิธีการเผาหลอกแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะไปยกโลงศพตัวจริงมาใส่เข้าเตา ใช้เชื้อเพลิงไม่แก๊สก็เป็นน้ำมันโชล่า เผาเรียบร้อยสะดวกง่ายดาย

    สมัยโบราณ ก่อนออกเมรุ ศพในโกศจะถูกนำออกมาชำระเสียก่อน ให้เหลือแต่กระดูก เนื้อหนังมังสาจะถูกรูด แยกไปจัดการต่างหาก ส่วนที่จะประกอบพิธีเผา จะห่อผ้าขาวนำกลับเข้าโกศลองในโดยส่วนก้นมีเฉพาะเหล็กรองรับ วางบนจิตกาธาน  เมื่อเผาจริง ก็เปิดฝา แล้วสุมไฟเข้าใต้ตะแกรงโกศ จนกว่าจะมอดไหม้เป็นเถ้าธุลีอังคาร

    สิบกว่าปีก่อน ผมได้เห็นพิธีเสด็จพระราชทานเพลิงศพคุณลุง  ซึ่งระหว่างงานสวดพระอภิธรรม ก็นอนในโลงแอบอยู่หลังม่านเช่นกัน แต่เมื่อออกเมรุหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ผมทราบแต่เพียงว่า   ศพถูกนำออกจากโลง มาไว้อยู่ในโกศลองในจริงๆ  ไม่ทราบว่าเพราะเป็นงานที่เสด็จพระราชทานเพลิงหรือเปล่า แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ผมเพียงอยากจะเล่าให้ฟังว่า เมื่อเผาจริงนั้น พอพนักงานเปิดม่านออกมา เห็นกล่องไม้อัดบางๆ ทาสีขาว ขนาดเล็กกว่ากล่องกระดาษบรรจุทีวี๒๐นิ้ว ที่กำลังถูกยกเข้าเตาเผา ข้างบนเปิดโล่งแลเห็นห่อผ้าขาวกลมๆวางซ้อนกัน อยู่ในกล่องนั้นก่อนที่จะคลุมด้วยผ้าขาวปิดทับ  คงจะเป็นส่วนที่รูดออกมาตั้งแต่ก่อนออกเมรุ และส่วนที่เพิ่งจะเอาออกมาจากโกศ เรื่องที่เล่ากันว่าศพในโกศเมื่อนำออกมาชำระ จะมีการต้มในกระทะใบบัวให้กระดูกหมดกลิ่นก่อนแยกมาใส่โกศมาเผา ที่เหลือเคี่ยวต่อจนกว่าจะแห้งนั้น จึงได้ถูกเลิกไปหลายปีก่อน๒๕๓๘แล้ว หลังจากที่มีถุงพลาสติกและเตาเผากำจัดกลิ่นได้  และนี่คือการเผาศพที่เข้าโกศก่อนจะถึงยุคปัจจุบัน

    คนไทยเอาธรรมเนียมการเข้าโกศมาจากไหน

    อ่านเจอมาว่า โกศ เป็นภาษาสันสกฤต ฉะนั้น รากเหง้าวัฒนธรรมของโกศจึงมาจากอินเดียโบราณแน่ ในไตรภูมิพระร่วงปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า เอา(พระบรมศพ)ใส่ลงในโกศทอง แสดงว่าคนไทยมีวัฒนธรรมนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว

    แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัฒนธรรมการนั่งตายมีที่มาที่ไปอย่างไร
    ผมออกจะเชื่อในทฤษฎีที่ว่า มาจากคติทางพุทธศาสนาในเรื่องตายแล้วเกิด ความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดและการตายที่เห็นได้ชัดในวัฒนธรรมไทยก็คือการเก็บอัฐิ เ ริ่มจากพนักงานทำการรวบรวมเถ้ากระดูกที่หลงเหลืออยู่ภายหลังการเผาศพ มาจัดแต่งให้เป็นรูปทารกก่อนการเลือกเก็บอัฐิ นัยว่าเป็นอุบายให้พิจารณาธรรมะในข้อดายแล้วเกิดนี้                                     

    การเกิดในมนุษยโลก ก็ควรจะเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เดียรฉาน ดังนั้นการตายของผู้ที่ยังไม่เข้าถึงพระนิพพาน จีงควรจะอยู่ในท่าที่เชื่อมโยงกับการที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกโดยง่าย

    ลองพิจารณาท่าสบายที่สุดของทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดาดูซิครับว่าเป็นท่านั่ง และนั่งอย่างไร ฉะนั้น คนมีบุญบารมีก็น่าจะตายในท่าที่คล้ายกันนี้                                                               

    ตามที่อ่านพบมา ศพที่เข้าโกศอยู่ใน “ท่านั่งพนมมือเอาแขนลอดเข่ามาพนม” ผมลองทำท่านี้ดูแต่สุดวิสัย  อีกสำนวนหนึ่งเขียนว่า “ประทับนั่งคุกพระชานุทั้งสองยกขึ้นแบเสมอพระองค์ ประนมพระหัตถ์” ก็ไม่เข้าใจอาการยกขึ้นแบ การนั่งคุกเข่าแบบนั่งราบนั้น ขาจะยาวเกินพื้นที่ แต่ถ้านั่งบนส้น ศีรษะจะสูงเกินขอบ นอกจากจะเป็นคนรูปร่างเล็กมาก จะนั่งท่าไหนก็ได้

    ลองมาศึกษาสรีระของมนุษย์ขนาดมาตรฐานดู ท่าที่เหมือนกับนั่งคุกเข่าแต่เปลืองเนื้อที่น้อยที่สุดเพราะใช้แขนรัดไว้ เห็นจะเป็นท่าที่นักกิฬากระโดดน้ำระดับโอลิมปิกกระทำ เช่นภาพข้างล่างที่นำเสนอโดยแปลงโฉมหน้าพ่อยอดนักกิฬาคนนี้เสียใหม่เพื่อไม่ให้ตะแกมาด่าว่า ผมเอาตะแกมาเป็นนายแบบนั่งโก้อยู่ในโกศโดยพลการ

    ภาพนี้  แสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะดัดแข้งดัดขาเพียงเล็กน้อย เพื่อบรรจุร่างนี้ลงไปในปริมาตรของโกศได้ โดยแทบจะไม่ต้องกระทำทารุณกรรม

    ภาพวาดทีผมเขียนขึ้นโดยอาศัยนายแบบในภาพที่แล้ว ร่างกายของศพจะอยู่ในท่าประมาณนี้ ละไว้มิได้เขียนเครื่องสุกำ คือผ้าตราสังขาวและเชือกฝ้ายมัดไว้๕เปาะให้คงท่า หรือหมอนที่วางประคับประคองร่างไว้อีกทีหนึ่ง ส่วนไม้หลักที่อยู่ในโกศ เรียกว่า "กาจับหลัก" ทำหน้าที่ค้ำคางศพไว้ไม่ให้คอตก ไม่ใช่ไม้เสียบทวารที่คนปากพล่อยพูดๆกันไปจนเด็กรุ่นหลังเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง                                                                                                             
    ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผมมีหน้าที่ไปร่วมงานพระพิธีพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้านายองค์หนึ่งที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร ผมไปก่อนเวลาที่พระศพจะมาถึงมาก ประตูด้านหน้ายังปิด แต่ประตูด้านหลังเปิดไว้จึงเดินเข้าไป พวกสนมพลเรือนกำลังตระเตรียมงานอยู่ เห็นพระโกศลองในอยู่บนฐาน วางรอไว้กับพื้น เปิดฝาเอาไว้ ภายในพ่นสีแดงสด ก้นเป็นตะแกรง แลลอดลงไปเห็นฐานเว้าเป็นกระทะหงายมีรูตรงกลาง จำไม่ได้ว่าเป็นชิ้นส่วนรูปบัวหงายที่แยกกันได้กับฐานหรือเปล่า เยื้องออกมาจากรูตรงกลางนั้นมีแกนเหล็กลักษณะเป็นปลอกนอก สำหรับเสียบก้านกลมเข้าไปข้างในได้ ตำแหน่งของแกนนี้จะตรงกับทวารพอดีถ้านั่งลงไป นี่คงเป็นสาเหตุของความเข้าใจผิดที่กล่าวกันมา พร้อมกันนั้นก็ได้เห็นกาจับหลักที่เขาวางไว้ น่าจะทำด้วยเหล็กเส้นกลม ตรงปลายเป็นจานเล็กๆ (ไม่ใช่เป็นตัวTหรือตัวY เช่นที่เคยอ่าน คงมีหลายแบบกระมัง) ก็เข้าใจได้ทันทีว่า ถ้าแกนดังกล่าวอยู่ด้านหน้าของศพก็จะตรงกับคาง พวกพนักงานกำลังง่วนอยู่กับการประกอบเบญจาในขั้นตอนสุดท้าย ด้านหลังที่เปิดอยู่แลเห็นท่อพลาสติกใส ขนาดสักหนึ่งนิ้ว ต่อจากปลายที่เสียบทะลุพื้นชั้นบนสุดลงมาที่ไหเซรามิก มีฝาผนึกปิดอย่างดีพร้อมก้านให้ท่อเสียบได้สนิท ไม่เห็นมีท่อไม้ไผ่อะไร คงเพราะมีของดีกว่าก็ใช้ของนั้น วิวัฒนาการกันไปตามกาลสมัย
    ผมอยู่ตรงนั้นไม่นานแต่มันติดตามมาถึงบัดนี้ แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้บันทึกไว้เป็นทั้งภาพทั้งอักษร ก่อนที่ตนจะหลงลืมหมดสภาพ                                                                                             
             
    ทั้งหมดที่นำเสนอนี้ ก็หวังว่าท่านทั้งหลายจะเข้ามาร่วมวง เสริมแต่งให้ใกล้ความเป็นจริงที่สุด เพื่อใช้อ้างอิงได้ก็จะเป็นการดีนะครับ

    ภาพวาดทีผมเขียนขึ้นโดยอาศัยนายแบบในภาพที่แล้ว ร่างกายของศพจะอยู่ในท่าประมาณนี้ ละไว้มิได้เขียนเครื่องสุกำ คือผ้าตราสังขาวและเชือกฝ้ายมัดไว้  ๕เปาะให้คงท่า หรือหมอนที่วางประคับประคองร่างไว้อีกทีหนึ่ง ส่วนไม้หลักที่อยู่ในโกศ เรียกว่ากาจับหลัก ทำหน้าที่ค้ำคางศพไว้ไม่ให้คอตก ไม่ใช่ไม้เสียบทวารที่คนปากพล่อยพูดๆกันไปจนเด็กรุ่นหลังเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง                                                                        
                                                                                                                                                                                                                                                     ***************************************************************************************************************                 ขอบคุณที่มา : Pantip.com  จากคุณ :  Navarat.C                     http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/11/K7236250/K7236250.html