1 มีนาคม 2562

วิ่งยังไง .... ในวันที่อากาศร้อนสุดๆๆ



วิ่งยังไง.....ในวันที่ อากาศร้อนสุดๆ


ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า  อุณหภูมิปกติภายในร่างกายเรานั้นจะถูกปรับให้คงที่อยู่เสมอด้วยกลไกอันแยบยลของร่างกาย ที่ระดับ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าสูงมาก  (เพราะเพียงแค่อากาศภายนอกสูงเกินกว่า 30 องศา หลายคนก็จะบ่นกันว่า ร้อนมากแล้ว)   เราเคลื่อนไหวหรือออกกำลัง แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดความร้อนขึ้นภายในร่างกาย ความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกถ่ายเทออกไปจากร่างกายได้หลายช่องทาง  แต่ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การระบายความร้อนด้วยน้ำ

โดยน้ำจะพาความร้อนระบายออกไปในรูปของเหงื่อทางรูขุมขนที่มีอยู่มากมาย จึงทำให้การถ่ายเทความร้อนมีประสิทธิภาพมาก

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้ว อากาศที่ร้อนอบอ้าว ไม่ได้มีผลกระทบกับกลไกในร่างกายเราโดยตรง (ยกเว้นบริเวณใกล้ผิวหนัง) แต่ความร้อนอบอ้าว จะทำให้ระบบการระบายความร้อนของเรามีประสิทธิภาพลดลง เพราะเหงื่อระเหยออกได้ยาก  ร่างกายจึงต้องเพิ่มการทำงานการระบายเหงื่อออกมามากขึ้นกว่าปกตินั่นเอง


วิธีการวิ่ง ในสภาวะอากาศร้อน


1.   การดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดเวลาระหว่างวิ่ง มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ แม้เราไม่มีกล่องพักน้ำเหมือนรถยนต์  แต่เราถือ/พกขวดน้ำรอบเอวหรือแบกเป้น้ำไปด้วยในระหว่างวิ่งได้ และคงต้องมีตัววัดอาการขาดน้ำของร่างกายที่ดีด้วย เช่น

 1)  ชั่งน้ำหนัก เป็นระยะๆ ระหว่างวิ่ง น้ำหนักเราควรคงที่อยู่เสมอ ถ้าน้อยลง แสดงว่าขาดน้ำ ควรดื่มน้ำชดเชย  (รายการวิ่งอัลตร้ามาราธอน บางงานจะเตรียมเครื่องชั่งไว้ให้นักวิ่งสามารถขึ้นชั่งน้ำหนักได้ทุกรอบ)
2)   กะปริมาณการดื่มน้ำเป็นระยะๆ โดยฝึกสังเกตุ รับรู้ และจดจำ สัญญาณต่างๆ ที่ร่างกายบอกเรา เช่น ปริมาณของเหงื่อที่ออก ความรู้สึกร้อน ความรู้สึกกระหาย (อย่ารอจนคอแห้ง) หรือสังเกตุสีของฉี่หรือปัสสาวะ ควรจะใส ถ้าเหลืองเข้มแสดงว่าขาดน้ำแล้ว
3)   ดื่มน้ำให้เยอะๆ ก่อนการวิ่ง แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ร่างกายมีเวลาปรับน้ำส่วนเกินออกเองทางปัสสาวะ แต่ถ้าเป็นการแข่งขันอาจต้องเว้นระยะก่อนแข่งไว้หน่อย จะได้ไม่เสียเวลาแวะเข้าห้องน้ำ โดยมาดื่มเพิ่มก่อนแข่งได้อีกนิดหน่อย


2.    เราต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราเหนื่อยและร้อนเกินไปหรือไม่  เพื่อป้องการไม่ให้เกิดอันตรายจากลมแดด หรืออาการร้ายแรงอื่นๆ ร่างกายมีตัววัดความเหนื่อยหลายอย่างที่อาจต้องใช้ประสบการณ์และเรียนรู้ที่จะสังเกตุตัวเอง สำหรับนักวิ่งที่มีนาฬิกา ที่ใช้สำหรับการวัดค่าต่างๆ ต้องหมั่นดู ต้องสังเกต เช่น

        1)   ดูอัตรา จังหวะการเต้นหัวใจ  มักจะเต้นเร็วกว่าปกติ ในภาวะที่    อากาศร้อน เราจึงควรวิ่งโดยระวังไม่ให้ชีพจรสูงเกินไป หรือจะฝึกใช้ความรู้สึกเรียนรู้และจดจำความแรงและความถี่การเต้นของหัวใจ ดูก็ได้



      2)    เหงื่อเริ่มไม่ออก หรือออกน้อย  ทั้งๆ ที่อากาศร้อน รวมถึงสัญญาณอื่นๆ ที่ผิดปกติ ควรฝึกรับรู้อยู่ตลอด ถ้าเริ่มรู้สึกได้ ควรชะลอ      ความเร็ว และหยุดพักในที่ร่ม



3.    อย่าเร่ง หรือวิ่งเร็วมาก และนานเกินไป เพราะร่างกายจะทำงานหนักและสะสมความร้อนสูงขึ้นกว่าปกติ ดังนั้นทางแก้ก็คือ

         1) วิ่งให้ช้าลง และ อาจต้องลดระยะทางลงบ้างจากการวิ่งซ้อมใน   ภาวะปกติ


         2)  วิ่งอย่างมีประสิทธิภาพ  คือ วิธีการฝึกวิ่งโดยใช้พลังงานอย่าง    ประหยัดหรือมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปรับท่าวิ่งให้นุ่มนวล ก้าวสั้นลง แต่ความถี่สูงขึ้น ฝึกใช้กล้ามเนื้อขาท่อนล่างให้มากขึ้นทดแทนกล้ามเนื้อขาท่อนบนที่มีขนาดใหญ่และใช้พลังงานเยอะกว่า 


4.   ลักษณะของชุดวิ่ง  ควรป้องกันไม่ให้มีส่วนของร่างกายได้รับแสงแดดโดยตรง และสามารถระบายอากาศได้ดี โดยอาจใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ปลอกแขน หมวก แว่นกันแดด และครีมกันแดด เป็นต้น


การระบายเหงื่อ  เป็นกลไกธรรมชาติที่แยบยล ในการระบายความร้อนของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เราสามารถช่วยลดภาระของร่างกายได้ อย่างง่ายๆ ด้วยการวางแผนการฝึกซ้อมวิ่ง ให้เบาลงในภาวะอากาศที่ไม่เป็นใจต่อร่างกาย หรือ ให้หลีกเลี่ยงภาวะอากาศร้อนมากๆ ได้จะดีที่สุด หรืออย่างน้อย  ถ้าจำเป็นต้องวิ่งกลางแดดร้อนๆ ก็ควรหลบแดด และวิ่งใต้ร่มเงาให้มากที่สุดด้วยนะคะ