21 มีนาคม 2563

รู้จัก "ฟาวิพิราเวียร์" ตัวยาต้าน 'โควิด-19'


       พาไปทำความรู้จักกับ  "ฟาวิพิราเวียร์"  ตัวยาที่มีการค้นพบว่า  สามารถต้าน  "โควิด-19"  ได้ดี และเริ่มมีการใช้ในหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์     โควิด-19  ระบาดขณะนี้


บุคลากรทางการแพทย์ในทุกประเทศที่กำลังเผชิญกับ "โควิด-19" กำลังพยายามควบคุมสถานการณ์ และคิดค้นแนวทางในการรักษาโรคนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด หนึ่งในนั้นคือ "ฟาวิพิราเวียร์" ตัวยาที่มีการค้นพบว่าสามารถต้าน "โควิด-19" ได้ในระดับที่น่าพอใจ
โดยรองศาสตราจารย์ ดรเภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลของการศึกษาค้นคว้า  'ฟาวิพิราเวียร์ในช่วงที่ผ่านมาว่า
ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีกลุ่มนักวิจัยชาวจีนได้ตรวจหาฤทธิ์ยา และ สารอื่นๆ  กว่า 70,000 ชนิด โดยใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์บนคอมพิวเตอร์ (computer simulation)   และการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในหลอดทดลอง เพื่อหาศักยภาพของยาหรือสารอื่นเหล่านั้นในการนำมาใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้พบยาที่น่าสนใจบางชนิด เช่น 
ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” “คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate)” และ  เรมเดซิเวียร์ (remdesivir)”



  •  ข้อมูลทั่วไปของยา “ฟาวิพิราเวียร์” 
ฟาวิพิราเวียร์ มีหลายชื่อเรียกอาทิ T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ค้นพบโดยบริษัทโตยามะเคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น 
ยานี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม .. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบแอฟริกาตะวันตกช่วงปี .. 2557 - 2559 
จากข้อมูลในอดีตมีผู้ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พบว่ายามีความปลอดภัย ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับยาต้านโคโรน่าไวรัสชนิดอื่นคือปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยา 


อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายาฟาวิพิราเวียร์ได้รับอนุมัติในประเทศจีนให้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ และอนุญาตให้นำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ขณะนี้ในประเทศเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการพิจารณาขออนุมัติทะเบียนยาแบบเร่งด่วน (fast-track approval) เพื่อใช้รักษาโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ “ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” ได้รับความสนใจมากกว่ายาชนิดอื่นๆ เนื่องจาก ข้อมูลเบื้องต้นที่พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพดีต่ออาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด ช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease virus), ไวรัสไข้เหลือง (yellow fever virus)  อีกทั้งได้ทดลองใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่า โรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีนและที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว

 เภสัชวิทยาของยา "ฟาวิพิราเวียร์"   
ทั้งนี้ ในมิติทางเภสัชวิทยาของยาฟาวิพิราเวียร์ พบว่าการที่ยานี้จะมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ต้องถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยเอนไซม์ภายในเซลล์ได้เป็นฟาวิพิราเวียร์ไรโบซิลไตรฟอสเฟต (favipiravir ribosyl triphosphate) ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA-dependent RNA polymerase หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส ดังนั้นเมื่อเอนไซม์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส
นอกจากนี้สารดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์
ยานี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับโดยอาศัยเอนไซม์แอลดีไฮด์ออกซิเดส (aldehyde oxidase) เป็นส่วนใหญ่ อาศัยเอนไซม์แซนทีนออกซิเดส (xanthine oxidase) เพียงเล็กน้อย 
   เกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลดีไฮด์ออกซิเดสได้ด้วยจึงยับยั้งการเปลี่ยนสภาพของตัวยาเอง ด้วยเหตุนี้ค่าทางเภสัชจลนศาสตร์ (กระบวนการที่ร่างกายจัดการกับยา ตั้งแต่การนำยาเข้าสู่ร่างกาย การดูดซึม การกระจายยาผ่านไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงยา และการขจัดออกจากร่างกาย) บางอย่างของยาจึงไม่ได้แปรผันเป็นเส้นตรงกับขนาดยาที่ได้รับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายาผ่านรกและขับออกทางน้ำนมได้ ยามีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องและอาจทำให้ลูกในท้องพิการได้โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาในขนาดสูง 



  •  ฟาวิพิราเวียร์ กับการนำไปใช้จริง 
เคสล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจนจากการใช้ ฟาวิพิราเวียร์ ต้านโควิด-19   คือรายจาก xinhuathai   เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่ทางการจีนเปิดเผยว่าจีนดําเนินการ ทดลองทางคลินิกกับ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาต้านไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ที่แสดงประสิทธิผล ทางการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในระดับดี
โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 จํานวนมากกว่า 80 ราย ที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกในโรงพยาบาลประชาชนแห่งที่ 3 ของ เมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ โดยมีผู้ป่วยได้รับยา "ฟาวิพิราเวียร์"  35 ราย และผู้ป่วยกลุ่มควบคุม (Control group) อีก 45 ราย
การทดลองดังกล่าวพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลการตรวจหาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ กลายเป็นลบในระยะเวลาอันสั้นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์
นอกจากนั้นการทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (randomized) ในหลายสถาบัน นําโดยโรงพยาบาลจงหนานของ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ก็บ่งชี้ว่าการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ สัมฤทธิ์ผลดีกว่ามากเช่นเดียวกัน  


  • การใช้ "ฟาวิพิราเวียร์" ในไทย
ในการนำมามีส่วนช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยด้วย โดย นายแพทย์ ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ (10 มี..) ว่า  “ฟาวิพิราเวียร์” (favipiravir)   ขณะนี้ประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 5 หมื่นเม็ด และจะกระจายไปทั่วประเทศ โดยส่วนหนึ่งจะอยู่ที่ สถาบันบำราศนราดูร  ส่วนที่สอง คือ โรงพยาบาลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลทรวงอก โรงพยาบาลสังกัด กทมและ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ต่างๆ จากนั้นจะ กระจายไปตามโรงพยาบาลใหญ่ในหัวเมืองต่างๆ และต้องส่งต่อไปถึงโรงพยาบาลระดับ ชุมชน
ซึ่งเป็นขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยในระดับอาการที่มีการใช้ยา ทั้งนี้ ยากระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีสารตั้งต้น ในการผลิตยารักษา ขั้นตอนอยู่ระหว่างการเตรียมการเจรจาจากประเทศที่มีสารตั้งต้นการผลิต  ส่วนจะต้องสำรองยารักษาปริมาณเท่าไหร่นั้น ต้องปรับไปตามสถานการณ์ แต่เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด 
การค้นพบและการพยายามพัฒนาสูตรยาในการต้าน “โควิด-19” นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยในขณะนี้ อย่างไรก็ดี การไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะ 2 เมตรในช่วงนี้ กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว และหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์  ยังเป็นการป้องกันที่ดีที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการระบาดในระยะนี้
.
ที่มา: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  , xinhuathai PPTV

ไม่มีความคิดเห็น: